i-mobile แนะนำแอนดรอยด์โฟน 2 ซิม 4 รุ่นใหม่ พร้อมด้วยแท็บเล็ต จอ 7 นิ้ว

i-mobile แนะนำสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รองรับ 2 ซิมการ์ด 4 รุ่นใหม่ ได้แก่ i-mobile i-STYLE 7.3A, 7.3, 8.1, IQ6.1 และ i-note 3 แท็บเล็ตจอสัมผัสกว้าง 7 นิ้ว ที่มาพร้อมดีไซน์สวยงามทันสมัยน่าใช้งานและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดูหนัง, ฟังเพลงวิทยุ FM, เล่นเกมส์ หรือใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับบุคคล หรือองค์กรอยู่เป็นประจำทุกวัน

เริ่มจาก i-mobile i-STYLE 7.3A (สำหรับเครือข่าย AIS 900/2100MHz) ส่วน i-STYLE 7.3 (สำหรับเครือข่าย True, Dtac 850/2100MHz) สมาร์ทโฟนทั้งสองใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean มีหน้าจอสัมผัสกว้าง 4.5 นิ้ว แสดงผล 16 ล้านสี ระบบสัมผัส Multi-Touch ความละเอียด 854×480 พิกเซล, กล้องหลังความละเอียด 5 ล้านพิกเซล กล้องหน้าความละเอียด VGA, ใช้หน่วยประมวลผล MTK6572 Dual Core ความเร็ว 1.2GHz, RAM 512MB, ROM 4GB, รองรับการ์ดความจำภายนอก microSD สูงสุด 32GB, แบตเตอรี่ความจุ 1,500 mAh, รองรับการเชื่อมต่อ WiFi, Bluetooth, Micro USB

ตามด้วย i-mobile i-STYLE 8.1 สมาร์ทโฟนที่ออกแบบให้มีความบางเพียง 9.18 มิลลิเมตร มีหน้าจอขนาดใหญ่ 5.0 นิ้ว ระบบสัมผัส Multi-Touch ความละเอียด 480×854 พิกเซล, พร้อมชูจุดเด่นด้วยกล้องหลังที่มีความละเอียด 8 ล้านพิกเซล, ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean, RAM 1GB,ROM 4GB, สามารถเพิ่มการ์ดความจำภายนอก microSD สูงสุด 16GB, แบตเตอรี่ความจุ 2,000 mAh, รองรับการเชื่อมต่อ WiFi, Bluetooth, Micro USB นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นมาตรฐานอย่างแอพฯ Flash Light, Quick Office editors เป็นต้น

i-mobile IQ6.1 สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมจุดเด่นด้วยเลนส์กล้องถ่ายรูปด้านหลังที่มีความละเอียดสูงถึง 18 ล้านพิกเซล กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล โดย i-mobile IQ6.1 ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean มีหน้าจอสัมผัสกว้าง 5.0 นิ้ว แสดงผล TFT-LCD 16 ล้านสี ระบบสัมผัส Multi-Touch ความละเอียด 720×1280 พิกเซล,ใช้หน่วยประมวลผลความเร็ว 1.5GHz, RAM 1GB, ROM 4GB, สามารถเพิ่มการ์ดความจำภายนอก microSD สูงสุด 16GB, แบตเตอรี่ความจุ 2,100 mAh, รองรับการเชื่อมต่อ WiFi, Bluetooth, Micro USB

สุดท้าย i-mobile i-note 3 แท็บเล็ตที่ให้มุมมองภาพสมจริง เพื่อการรับชมภาพยนตร์และวีดีโอได้กว้างมากยิ่งขึ้นด้วยหน้าจอที่มาในขนาด 7 นิ้ว จอแสดงผล TFT-LCD ระบบสัมผัส Multi-Touch ความละเอียด 1024×600 พิกเซล, มีกล้องหน้าและหลังความละเอียด 5 ล้านพิกเซล, ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1 Jelly Bean, ใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm MSM8225 Cortex A5 Dual Core ความเร็ว 1GHz, RAM 512MB, ROM 4GB, สามารถเพิ่มการ์ดความจำภายนอก microSD สูงสุด 32GB, แบตเตอรี่ความจุ 4,000 mAh, รองรับการเชื่อมต่อ WiFi, Micro USB

เปรียบเทียบ The new HTC One, Sony Xperia Z, LG Optimus G Pro

HTC ได้เผยโฉมสมาร์ทโฟน The new HTC One ที่เป็น “เดิมพันครั้งใหม่” สำหรับการแข่งขันที่ร้อนระอุในตลาดสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ชั้นนำ ซึ่งมีคู่แข่งที่เรียกว่า “สุดหิน” อย่าง Sony Xperia Z และ LG Optimus G Pro ที่ตั้งท่ารอก่อนหน้านี้ไม่นานนัก และแน่นอนว่าสมาร์ทโฟนทั้งสามรุ่นคือคู่ชกที่กำหมัดรอคอยผู้ท้าชิงอย่าง Samsung Galaxy S IV ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มีนาคมนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สมาร์ทโฟนรุ่นไหนจะยืนหยัดอยู่บนจุดสูงสุดของปี 2013 ได้กันแน่…

Sony Xperia Z ถูกเผยโฉมครั้งแรกในงาน CES 2013 เมื่อต้นปีโดยชูความโดดเด่นในเรื่องของคุณสมบัติ “กันน้ำ-กันฝุ่น” และ “ดีไซน์ที่สวยงาม” จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว ในขณะที่ LG Optimus G Pro ถูกเผยโฉมครั้งแรกอย่างเป็นทางการในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ โดยนำเอา “ความใหญ่ของหน้าจอ” มาเป็นจุดขายหลักกระชากใจ และสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด The new HTC One สมาร์ทโฟนที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลกที่เปิดตัวในงาน MWC 2013 พร้อมกับคว้า “รางวัลสุดยอดสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่”ที่ดีที่สุดซึ่งได้รับการโหวตจากผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนในวงการที่ไปชมงาน

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบสมาร์ทโฟนทั้งสามรุ่นนั้นต้องใช้ข้อมูลสเปคมาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ และแน่นอนว่าต้องไม่ลืมหยิบยกจุดเด่นของแต่ละเครื่องมาวัดกันด้วย

HTC One v.s. Sony Xperia Z v.s. LG Optimus G Pro

design – การออกแบบ

LG Optimus G Pro มาพร้อมหน้าจอใหญ่จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “แฟ็บเล็ต” หรือมือถือกึ่งแท็บเล็ตตัวหนึ่งและต้องบอกว่าเรื่องดีไซน์นั้นแอบคล้ายกับ Samsung Galaxy Note II ในบางส่วน ในขณะที่เรื่องของวัสดุที่ใช้ประกอบเครื่อง The new HTC One ต่างกับอีกสองรุ่นโดย HTC เลือกใช้วัสดุ “อลูมิเนียม” อันทนทานแทนที่วัสดุพลาสติก ส่วนSony Xperia Z ใช้คำเรียกดีไซน์ตัวเครื่องในเชิงการตลาดว่า “OmniBalance” หรือดีไซน์ที่มาพร้อมกับความสมดุลทุกทิศทาง

Screen – หน้าจอ

ทั้งสามรุ่นไม่ลังเลที่จะชูจุดขายในเรื่องของความละเอียดหน้าจอระดับ Full HD 1080p แต่หากวัดกันที่ “ความหนาแน่นของพิกเซลต่อนิ้ว” แล้ว The new HTC One มีความละเอียดมากที่สุดในสามรุ่น (469ppi) แต่ถ้าเรื่องของ “ความใหญ่ของจอ” LG Optimus G Pro กินขาด

Processor – หน่วยประมวลผล

Sony Xperia Z ดูจะตามหลังเพื่อนเพราะว่ายังคงใช้งาน CPU Qualcomm Snapdragon S4 Pro ในขณะที่อีกสองรุ่นต่างนำ CPU รุ่นใหม่จาก Qualcomm ที่นำเสนอครั้งแรกในงาน CES มาใช้ นั่นคือ Snapdragon 600 ซึ่งทำงานประมวลผลได้มีประสิทธิภาพมากกว่า Snapdragon S4 Pro

Memory – หน่วยความจำ

HTC One ไม่มีช่องใส่หน่วยความจำภายนอกเพิ่มเติม ซึ่งไม่ยืดหยุ่นเท่าไรนัก โดย The new HTC One มีหน่วยความจำในเครื่องเริ่มต้นที่ 32GB และสูงสุด 64GB (จำหน่ายในบางประเทศ) ในขณะที่ทาง Sony Xperia Z มาพร้อมกับหน่วยความจำภายใน 16GB พร้อมรองรับ microSD card และ LG Optimus G Pro มีหน่วยความจำ 32GB พร้อมรองรับ microSD card

Camera – กล้องถ่ายรูป

เรื่องของกล้องถ่ายรูปนั้นสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นเอง หากวัดกันที่จำนวนจุดพิกเซล LG Optimus G Pro และ Sony Xperia Z ต่างมีกล้องความละเอียดสูงถึง 13 ล้านพิกเซลเท่ากัน แต่ภายในแตกต่างกันในเรื่องของฟังก์ชั่นและลูกเล่นต่างๆ รวมถึงคุณภาพและรายละเอียดที่ต้องเจาะลึกมากกว่านี้ ส่วน HTC One นั้นแม้จะมีตัวเลขความละเอียดพิกเซลเพียง 4.3 ล้านพิกเซล แต่อย่าลืมว่านี่คือเทคโนโลยี “UltraPixel” ที่ทาง HTC งัดออกมาเพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเสียใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่าคุณภาพของภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีจำนวนจุดพิกเซลเยอะๆ เสมอไป

Battery – แบตเตอรี่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า LG Optimus G Pro จะชิงความได้เปรียบที่สุดในแง่ของความจุแบตเตอรี่อันมหาศาลถึง 3,140mAh แต่ด้วยขนาดความกว้างของหน้าจอที่มากกว่าเพื่อนก็มีส่วนทำให้แบตเตอรี่ถูกใช้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

Price – ราคา

ทั้งสามรุ่นถูกเปิดตัวในต่างประเทศด้วยราคาตั้งแต่ 600 ยูโรขึ้นไป หรือประมาณ 23,200 บาท แต่สำหรับประเทศไทย ราคาของทั้งสามรุ่นยังไม่เปิดเผยออกมาในขณะนี้ และหากดูจากกำหนดการวางขาย The new HTC One และ Sony Xperia Z จะเข้ามาช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ส่วน LG Optimus G Pro นั้นยังไม่ทราบว่าจะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยช่วงใด

ทั้งสามรุ่นที่กล่าวมาคือสมาร์ทโฟนระดับ high-end ที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2013 และแน่นอนว่าต่อจากนี้จะเป็นคิวของ Samsung Galaxy S IV และค่ายอื่นๆ อีกในไม่ช้า วันที่ 14 มีนาคม เราจะได้รู้กันว่า Samsung จะงัดไม้เด็ดอะไรมาต่อกรกับเจ้าอื่น!

แท็บเล็ตคืออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

แท็บเล็ตคืออะไร ?

แท็บเล็ต ในความหมายด้านไอที คืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีหน้าจอระบบสัมผัสขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าจอตั้งแต่ 7 นิ้วขึ้นไป พกพาได้สะดวกเนื่องจากมีน้ำหนักเบา สามารถใช้งานการสัมผัสผ่านปลายนิ้วได้โดยตรง มีแอพพลิเคชั่นมากมายให้เลือกใช้ สามารถใช้งานด้านความบันเทิงได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค, ท่องอินเทอร์เน็ต, ถ่ายรูป, ดูหนัง, ฟังเพลง, เล่นเกม, วาดรูป หรือแม้กระทั่งใช้ทำงานรับส่ง-อีเมล์หรือจัดการเอกสารออฟฟิต ข้อดีของแท็บเล็ตคือมีหน้าจอที่กว้าง ทำให้มีพื้นที่การใช้งานเยอะกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป และยังมีน้ำหนักเบา พกพาได้สะดวกกว่าโน๊ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์ สามารถใช้จดบันทึกหรือใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อการศึกษาได้เป็นอย่างดี

แท็บเล็ตถูกสร้างขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ แต่กว่าจะกลายมาเป็นแท็บเล็ตเช่นทุกวันนี้ก็กินเวลาหลายสิบปี ผ่านช่วงที่เรียกว่า “บททดสอบ”มาหลายครั้ง จนในที่สุดก็กลายมาเป็นสินค้าไอทีที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคไม่แพ้สมาร์ทโฟน และยังมีแนวโน้มจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ

ประวัติความเป็นมาของแท็บเล็ต และการหยิบฉวยไอเดียของ Steve Jobs จนกลายเป็นผู้พลิกเกม

การมาของแท็บเล็ตได้ลบล้างส่วนแบ่งของตลาดเน็ตบุ๊ค หรือเครื่องโน๊ตบุ๊คขนาดย่อส่วนลงอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็กระทบถึงตลาดพีซีที่มียอดขายลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย Apple iPad ได้รับการยอมรับให้เป็นอุปกรณ์แท็บเล็ตที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด แต่ในความจริงแล้ว แท็บเล็ตไม่ได้เกิดจากไอเดียของ Steve Jobs แต่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ก่อนที่ Apple iPad จะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2010

Linus Write-Top (1987)

เป็นหนึ่งในแท็บเล็ตรุ่นแรกๆ ที่สามารถรู้จำลายมือโดยการใช้ปากกาสไตลัสเขียนลงไปบนหน้าจอสีเขียว แต่ยังเป็นหน้าจอแบบเก่า (resistive screen) ที่ใช้แรงดันไฟฟ้าตรวจสอบตำแหน่งที่สัมผัส นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติรูปแบบการกดคีย์บอร์ดแป้นพิมพ์แบบเดิมๆ

GRiDPad (1989)

สองปีต่อมาหลังจากนั้น Jeff Hawkins ผู้ก่อตั้งบริษัท Palm Computing ก็ได้สร้างอุปกรณ์ที่มีชื่อเรียกว่า “GRiDPad” ซึ่งรันบนระบบปฏิบัติการ MS-DOS และถูกนำไปใช้ในทางการทหาร แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคมองว่ามันหนัก และมีราคาแพงเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น

Apple MessagePad (1993)

MessagePad ถือเป็นแท็บเล็ตรุ่นแรกของ Apple ซึ่งเล็งเห็นช่องทางในธุรกิจดังกล่าวและเกิดความพยายามที่จะสร้างอุปกรณ์ประเภทใหม่ที่เรียกว่า “personal digital assistant” หรือ PDA ที่สามารถใช้ดูปฏิทิน กำหนดการนัดหมาย และรายการที่ต้องทำ โดยในขณะนั้นยังมีแอพพลิเคชั่นไม่มากนัก จุดเด่นของอุปกรณ์ประเภทนี้คือมีปากกาสไตลัสที่เขียนลงไปบนหน้าจอและสามารถรู้จำลายมือได้ในระดับหนึ่ง

PalmPilot (1997)

Jeff Hawkins กลับมาเขย่าวงการอีกครั้งด้วยการเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ “PalmPilot” ครั้งแรกของเครื่อง PDA ราคาไม่แพง เป็นอุปกรณ์หน้าจอสัมผัสที่ได้รับความนิยมมากในเวลานั้น อุปกรณ์ชิ้นนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการสินค้าชนิดใหม่ที่จะมาเติมเต็มช่องว่างระหว่างโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์แลปท็อป แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานราคาที่ไม่สูงนักและสามารถใช้งานง่าย

Microsoft Tablet PC (2000)

Bill Gates เจ้าพ่อไมโครซอฟต์เองก็เล็งเห็นความสำคัญของสินค้าแท็บเล็ต และได้เปิดตัวแท็บเล็ตต้นแบบในปี 2000 เขาทำนายว่าแท็บเล็ตจะเข้ามาเขย่าวงการไอทีภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่การเขย่าวงการของแท็บเล็ต (Apple iPad) เกิดขึ้นจริงในปี 2010 หรืออีก 10 ปีต่อมา

Windows XP tablet

ในปี 2002 Microsoft กังวลในเรื่องส่วนแบ่งตลาดแท็บเล็ต จึงเกิดการผลักดันให้มีการเปิดตัวแท็บเล็ตที่ผลิตโดยบริษัท Fujitsu และบริษัท Compaq โดยทั้งสองรุ่นต่างรันบนระบบปฏิบัติการ Windows XP ของ Microsoft

Motion Computing LS800 tablet (2005)

ในช่วงปี 2005-2006 มีแท็บเล็ตจากผู้ผลิตหลายค่ายถูกส่งลงไปทำตลาด เช่นแท็บเล็ตรุ่น LS800 จาก Motion Computing และแท็บเล็ต Lenovo ThinkPad แต่สินค้าเหล่านี้ก็มีราคาแพงและไม่เป็นที่นิยม ส่วนใหญ่มักจะถูกนำไปใช้ในโรงงานใหญ่ๆ หรือถูกใช้ในการทหารเสียมากกว่า ซึ่ง LS800 เป็นแท็บเล็ตที่เล็กที่สุดในเวลานั้นด้วยขนาดหน้าจอ 8.4 นิ้ว ราคาต่อเครื่องตกประมาณ 68,000 บาท

Apple iPad (2010)

และแล้วในที่สุดก็มาถึงยุคของ Steve Jobs และการปฏิวัติวงการแท็บเล็ตด้วย AppleiPad รุ่นแรกเปิดตัวมาพร้อมกับหน้าจอสัมผัสที่ลื่นไหล ดีไซน์สวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของผู้คน แต่ก็มีเสียงค้านมากมายปรามาสว่าสินค้าของ Apple จะล้มเหลวและไม่ประสบความสำเร็จ แต่วันเวลาก็ได้ลบล้างคำสบประมาทดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง

Samsung Galaxy Tab (2010)

ภายในปีเดียวกันนั่นเอง Samsung Galaxy Tab แท็บเล็ตแอนดรอยด์ก็ปรากฏตัวขึ้น แต่ไม่ได้รับความนิยมในฉับพลันทันที เนื่องจากราคาเปิดตัวในตอนนั้นที่ค่อนข้างสูง (ประมาณ 18,700 บาท) แต่ในที่สุดราคาก็ปรับลดลง

และด้วยความที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นระบบเปิด ทำให้แท็บเล็ตแอนดรอยด์ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีและเกิดการแข่งขันในตลาดด้วยช่วงราคาที่หลากหลายตั้งแต่รุ่นท็อปยันรุ่นราคาประหยัด

Amazon Kindle Fire (2011)

ที่อเมริกา ยุโรป และประเทศแถบเอเชียบางประเทศเช่นญี่ปุ่น Amazon Kindle Fire ถือเป็นแท็บเล็ตที่จุดประกายไฟให้เห็นถึงความพยายามในการส่งแท็บเล็ตราคาไม่แพงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (6,200 บาท) และเป็นการชี้ให้เห็นว่าแท็บเล็ตคุณภาพดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง

Sony S2 / Sony Tablet P (2011)

ในปี 2011 ผู้ผลิตแท็บเล็ตบางค่ายก็เริ่มทดลองทำอะไรแปลกใหม่ และหนึ่งในนั้นคือSony Tablet P แท็บเล็ตเครื่องแรกที่มาพร้อมดีไซน์ฝาพับและหน้าจอแสดงผลขนาด 5.5 นิ้ว

Microsoft Surface (2012)

หลังจากที่ห่างหายไปจากวงการแท็บเล็ตหลายปี Microsoft ก็วกกลับเข้ามาในเกมอีกครั้ง เนื่องจากการตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ถดถอยลงของตลาดพีซีและอนาคตของตลาดแท็บเล็ตที่จะเติบโตขึ้นในภายภาคหน้า โดยแท็บเล็ตของ Microsoft รุ่นแรกที่ออกสู่ตลาดคือ “Surface

ASUS Padfone 2 (2012)

ASUS เปิดตัว Padfone 2 แท็บเล็ตที่มาพร้อมกับความสามารถในการรวมร่างกับสมาร์ทโฟน

แนวโน้มของแท็บเล็ตในปัจจุบัน-อนาคต

Cisco มีความเชื่อว่า ในปี 2017 ผู้คนจะมีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่น้อยกว่าคนละ 5 เครื่อง เนื่องจากแนวทางของแท็บเล็ตยังคงแข็งแกร่งและตอบโจทย์ผู้บริโภค เชื่อว่าในหน้าประวัติศาสตร์ของอุปกรณ์ไอที แท็บเล็ตจะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดไม่แพ้คอมพิวเตอร์เลยทีเดียว

iPhone 5 รองรับการใช้งาน 4G LTE แล้ววันนี้ บนเครือข่าย true move H

เทคโนโลยี 4G LTE (Long Term Evolution) เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารมากยึ่งขึ้น โดยเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ความเร็วสูงสุดในการดาว์นโหลด 100 Mbps ซึ่งจะทำให้ดาวน์โหลดเร็วกว่า 3G+ ถึง 3 เท่า อัพโหลดเร็วกว่า 3G+ ถึง 5 เท่า และสำหรับในประเทศไทยก็มีผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง true move H ได้เดินหน้าเปิดให้บริการ 4G LTE เป็นรายแรก พร้อมรองรับการใช้งานบน iPhone 5 ได้แล้ววันนี้

นอกจากนี้ ยังมาพร้อมแพ็กเกจ 4G LTE ที่หลากหลาย ในราคาสุดคุ้ม โดยสามารถเลือกได้แบบอิสระตามการใช้งานของคุณ ทั้งสำหรับคนชอบเสิร์ซ ชอบเน็ต และคนชอบโทร ชอบเน็ต

แพ็กเกจสำหรับคนชอบเสิร์ซ ชอบเน็ต

แพ็กเกจสำหรับคนชอบโทร ชอบเน็ต

พิเศษ สมัครแพ็กเกจเสริม 4G ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 31 ธันวาคม 2556 รับสิทธิฟรี ค่าบริการเดือนละ 99 บาท จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 สำหรับผู้ใช้บริการแพ็กเกจ iNet 399, iNet 499, iNet 599, iNet 699, iNet 799 และ iNet 899

สำหรับผู้ใช้ iPhone 5 สามารถใช้งาน 4G LTE ได้โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. อัพเกรดซิมการ์ดเป็น U Sim เพื่อรองรับการใช้งาน 4G LTE ได้ที่ทรูช้อป
  2. อัพเดทเครือข่ายบนสมาร์ทโฟน เพื่อใช้งาน 4G LTE โดยต้องเป็น iPhone 5  ที่ใช้ iOS เวอร์ชั่น 6.1 ขึ้นไป และทำการอัพเดทเครือข่ายได้ดังนี้

วิธีตรวจสอบการตั้งค่า Carrier Setting

แนะนำสมาร์ทโฟนจอใหญ่รุ่นใหม่ ตอบโจทย์ทุกการใช้งานในมุมมองที่กว้างขึ้น

ในปัจจุบันแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมีให้เลือกใช้งานได้อย่างหลากหลาย บางครั้งการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนสะดวกกว่าบนแท็บเล็ต แต่บางครั้งการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนแท็บเล็ตก็สะดวกกว่าบนสมาร์ทโฟน จากช่องว่างตรงนี้เองทำให้ผู้ผลิตมือถือแบรนด์ต่างๆ เริ่มหันมาผลิตอุปกรณ์มือถือที่มีหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครอบคลุมกว่าเดิม โดยอุปกรณ์ประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นสมาร์ทโฟนกึ่งแท็บเล็ตและถูกเรียกว่า “แฟบเล็ต” ซึ่งจุดที่สังเกตได้คือมีหน้าจอแสดงผลตั้งแต่ 5.5 ถึง 7 นิ้ว ทำให้เพิ่มพื้นที่ในการใช้งานแอพพลิเคชั่นได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น (ดูความหมายเพิ่มเติมของแฟบเล็ตได้ ที่นี่)

แฟบเล็ตได้รับกระแสตอบรับที่ดีในตลาดประเทศไทยและเป็นสินค้าตัวหนี่งที่กำลังมาแรง โดยขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 รุ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ Sony Xperia Z Ultra, LG Optimus G Pro, Lenovo K900, Samsung Galaxy Mega 6.3 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. SONY Xperia Z Ultra

SONY Xperia Z Ultra มีความโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์การออกแบบที่สวยงาม เพรียวบาง พร้อมคุณสมบัติกันน้ำและกันฝุ่น และมีหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ถึง 6.4 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1920 x 1080 พิกเซล พร้อมเทคโนโลยี TRILUMINOS display และสามารถเขียนบนหน้าจอด้วยปากกา Stylus หรือดินสอคาร์บอนได้ทันที ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 800 (quad-core) ความเร็ว 2.2GHz, RAM 2GB, หน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 330, กล้องด้านหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล, กล้องด้านหน้า 2 ล้านพิกเซล, หน่วยความจำบนตัวเครื่องขนาด 16GB รองรับการ์ดหน่วยความจำภายนอก microSD ได้สูงสุด 64GB, แบตเตอรี่ความจุ 3000mAh และรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi, 3G, 2G, Bluetooth 4.0, NFC, GPS (A-GPS), รันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean สนนราคาอยู่ที่ 21,990 บาท (ดูรายละเอียดสเปกเพิ่มเติมได้ที่นี่)

2. LG Optimus G Pro

LG Optimus G Pro มาพร้อมหน้าจอแสดงผล IPS ขนาดกว้าง 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1920 x 1080 พิกเซล, ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 600 (quad-core) ความเร็ว 1.7GHz, RAM 2GB, หน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 320 โดย LG Optimus G Pro มาพร้อมฟีเจอร์ที่โดดเด่นด้วยระบบการแจ้งเตือนด้วยไฟ LED บนปุ่ม Home, มีปุ่มเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นได้อย่างรวดเร็ว (Quick Button) รวมถึงมาพร้อมกล้องด้านหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช LED และกล้องด้านหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล เพื่อรองรับการถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอได้พร้อมกันทั้งกล้องหน้าและกล้องหลังอีกด้วย, หน่วยความจำบนตัวเครื่องขนาด 16GB รองรับการ์ดหน่วยความจำภายนอก microSD ได้สูงสุด 64GB, แบตเตอรี่ความจุ 3140mAh และรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi, 3G, 2G, Bluetooth 4.0, NFC, GPS (A-GPS), DLNA, รันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 Jelly Bean สนนราคาอยู่ที่ 19,900 บาท (ดูรายละเอียดสเปกเพิ่มเติมได้ที่นี่)

3. Lenovo K900

Lenovo K900 มีดีไซน์เรียบหรูน่าสัมผัส ด้วยขนาดที่เพรียวบางเพียง 6.9 มิลลิเมตร และเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูงอย่างสแตนเลสอัลลอยและโพลีคาร์บอเนตในการผลิตตัวเครื่อง ทำให้มีน้ำหนักเบาและคงทนแข็งแรง มีหน้าจอแสงผล IPS ขนาดกว้าง 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล พร้อมเทคโนโลยีกระจก Corning Gorilla Glass 2 เพื่อป้องกันรอยขีดข่วน ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล Intel Atom Z2580 (Dual Core) ความเร็ว 2.0 GHz, RAM 2GB, หน่วยประมวลผลกราฟิก PowerVR SGX 544MP2, กล้องด้านหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ออโต้โฟกัส พร้อมแฟลช Dual LED มีเซ็นเซอร์คุณภาพสูงอย่าง Sony Exmor BSI เพื่อให้คุณภาพของภาพถ่ายคมชัดสมจริงทุกการเคลื่อนไหว และกล้องด้านหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล, หน่วยความจำบนตัวเครื่องขนาด 16GB, แบตเตอรี่ความจุ 2500mAh และรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi, 3G, 2G, Bluetooth 3.0, GPS (A-GPS), รันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean สนนราคาอยู่ที่ 14,990 บาท (ดูรายละเอียดสเปกเพิ่มเติมได้ที่นี่)

4. Samsung Galaxy Mega 6.3

Samsung Galaxy Mega 6.3 ด้วยการออกแบบยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของทางSamsung ไว้ได้อย่างดี ซึ่งผสานด้วยความหรูหราและสวยงามได้อย่างลงตัว มาพร้อมหน้าจอแสดงผล Super Clear LCD ขนาด 6.3 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล, ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 400 (dual-core) ความเร็ว 1.7GHz, RAM 1.5GB, หน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 305, กล้องด้านหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ออโต้โฟกัส พร้อมแฟลช LED และกล้องด้านหน้าความละเอียด 1.9 ล้านพิกเซล, หน่วยความจำบนตัวเครื่องขนาด 16GB รองรับการ์ดหน่วยความจำภายนอก microSD ได้สูงสุด 64GB, แบตเตอรี่ความจุ 3200mAh และรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi, 3G, 2G, Bluetooth 4.0, GPS (A-GPS), DLNA, KIES, KIES Air รันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean สนนราคาอยู่ที่ 14,900 บาท

11 วิธีช่วยให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ประหยัดการใช้ข้อมูลเครือข่าย 3G

ผู้ใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่เป็นมือใหม่มักประสบกับปัญหาการใช้งานข้อมูลเครือข่าย 3G มากเกินกว่าแพคเกจที่สมัครใช้บริการ แม้หลายคนจะแย้งว่าไม่ค่อยได้เปิดใช้งานอะไร แต่ทำไมตัวเลขการใช้งานข้อมูลเครือข่ายถึงสิ้นเปลือง ถ้าหากคุณกำลังมองหาวิธีประหยัดการใช้งานข้อมูลเครือข่าย ขอแนะนำ 11 วิธีการช่วยให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ใช้ข้อมูลเครือข่ายน้อยลงกว่าที่เคย

การจัดการแอพพลิเคชั่น

บางคนอาจจะไม่ทราบว่าเมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใน Google Play มาใช้งานแล้ว ไม่ได้จบสิ้นเพียงแค่การเปิดใช้งานเท่านั้น แต่ยังมีพวกอัพเดทหรือโฆษณาที่คอยจ้องจะดาวน์โหลดข้อมูลมายังเครื่องของคุณด้วย

1. อัพเดทแอพพลิเคชั่นผ่านทาง Wi-Fi เท่านั้น
เปิด Google Play และเลือกเมนูการตั้งค่า > อัพเดทอัตโนมัติ และเลือกอัพเดทอัตโนมัติผ่าน Wi-Fi เท่านั้น หรือจะเลือกอัพเดทด้วยตัวเอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอัพเดทต่างๆ จะไม่มารบกวนการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตของคุณอีกต่อไป

2. การตั้งค่าภายในแอพพลิเคชั่น

บางแอพพลิเคชั่นที่คุณใช้งานอยู่ อาจจะมีการเรียกใช้ฟังก์ชั่นการสำรองข้อมูลภาพถ่ายหรือวิดีโอไปเก็บบนเซิร์ฟเวอร์โดยที่คุณไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น Google+ เมื่อเริ่มต้นใช้งานจะถามผู้ใช้ว่าต้องการสำรองข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์เลยหรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบเมนูการตั้งค่าในแต่ละแอพฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจ

3. จำกัดการใช้งานข้อมูลแอพที่รันอยู่เบื้องหลัง

แอพพลิเคชั่นบางอย่างอาจจะมีการดาวน์โหลดข้อมูลแม้ขณะที่คุณไม่ได้เปิดใช้งานก็ตาม วิธีตรวจสอบง่ายๆ สำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์เวอร์ชั่น 4.0 (Ice Cream Sandwich) ขึ้นไป สามารถเข้าไปดูที่ การตั้งค่า > การใช้งานข้อมูลเครือข่าย (Data Usage) และเลื่อนลงมาเพื่อดูรายการแอพพลิเคชั่นและข้อมูลสถิติการใช้งานเครือข่าย จากนั้นแตะแอพฯ ที่มีการใช้งานข้อมูล ให้มองหาตัวเลขที่อยู่ด้านข้างแผนภูมิวงกลม โดยจะมีอยู่สองชุด ชุดแรกคือ “เบื้องหน้า (foreground) คือตัวเลขแสดงปริมาณข้อมูลเครือข่ายที่ถูกใช้ไปขณะใช้งานแอพฯ ให้สังเกตอีกชุดที่ชื่อว่า “เบื้องหลัง” (background) ตัวเลขนี้คือปริมาณการใช้ข้อมูลของแอพฯ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง หากตัวเลขดังกล่าวสูงมากเกินความจำเป็น ผู้ใช้งานสามารถแตะเครื่องหมายถูกตรงหัวข้อ “จำกัดการใช้การเชื่อมต่อข้อมูลเบื้องหลัง” เพื่อปิดการทำงาน

ใช้ประโยชน์จากฟังก์ชั่นโหลดข้อมูลล่วงหน้า (Preloading) และฟังก์ชั่นเก็บข้อมูลที่ใช้บ่อย (Caching)

การประหยัดการใช้ข้อมูลบนสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานและนักพัฒนาแอพฯ คิดมาโดยตลอด แอพพลิเคชั่นบางอย่างที่ใช้ปริมาณการโหลดข้อมูลสูงๆ เช่นพวก คลิปวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์ จึงถูกออกแบบให้มีตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับการโหลดข้อมูล

4. โหลดข้อมูลล่วงหน้าสำหรับแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่ง

แอพพลิเคชั่นที่มีเนื้อหาเป็นคลิปวิดีโอสตรีมมิ่ง จะมีเมนูฟังก์ชั่นการตั้งค่าเพิ่มเติมที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาที่รับชมผ่านทาง Wi-Fi ก่อนที่จะรับชม และยังสามารถเรียกดูในภายหลังโดยไม่ต้องใช้งานข้อมูลเครือข่าย ตัวอย่างเช่น Youtube มีฟังก์ชั่น โหลดรายการที่สมัครรับข้อมูลไว้ล่วงหน้า และฟังก์ชั่นโหลดรายการดูภายหลังไว้ล่วงหน้า เป็นต้น

นอกจากนั้นแอพพลิเคชั่นวิดีโอสตรีมมิ่งบางอย่าง อาจจะมีฟังก์ชั่นที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถรับชมคลิปวิดีโอคุณภาพต่ำขณะที่ใช้งานการเชื่อมต่อข้อมูลเครือข่าย

5. ดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล ผ่านทาง Wi-Fi เท่านั้น

การดาวน์โหลดไฟล์เพลง, ภาพ, ภาพยนตร์ ที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ ควรปิดการเชื่อมต่อเครือข่าย และใช้การเชื่อมต่อ Wi-Fi แทน

6. โหลดข้อมูลแผนที่ก่อนออกเดินทาง

Google Maps เวอร์ชั่น 7.0 ขึ้นไป สามารถบันทึก Offline Maps หรือการบันทึกแผนที่บางส่วนบริเวณที่สนใจบนหน้าจอเข้ามาเก็บไว้ในเครื่อง โดยพื้นที่ส่วนไหนที่ต้องการเซฟ ให้พิมพ์ที่ช่องค้นหาว่า “OK Maps” (รองรับเฉพาะบางพื้นที่ในโลกเท่านั้น) และเมื่อแผนที่ถูกดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่องแล้ว เวลาออกเดินทางก็สามารถเรียกดูและนำทางได้โดยไม่ต้องใช้การเชื่อมต่อข้อมูล

ตรวจสอบการตั้งค่าการซิงค์ข้อมูล

ด้วยฟังก์ชั่นซิงค์ข้อมูลอัตโนมัติของ Google เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถรับทราบการอัพเดทหรือความเคลื่อนไหวล่าสุด แต่ในทางตรงข้าม การเชื่อมต่อข้อมูลและพลังงานแบตเตอรี่ก็ถูกใช้งานหนักในส่วนนี้เช่นกัน

7. ปรับตั้งค่าการซิงค์ข้อมูล

ข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องซิงค์ข้อมูล เช่น ภาพถ่ายหรือฟังก์ชั่นบางอย่างของ Google ที่ไม่ได้ใช้งาน ก็สามารถไปปรับตั้งค่าช่วงเวลาการซิงค์ข้อมูลให้ไม่ต้องถี่นัก ได้ที่ การตั้งค่า > บัญชีและการซิงค์ > Google และเลือกนำการซิงค์ที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้งานออกไป

8. ปิดการซิงค์ข้อมูลชั่วคราว

หากอยู่ในช่วงพักผ่อน พักร้อน หรือไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ข้อมูลอีเมล์, งาน, บัญชีรายชื่อผู้ติดต่อ ให้อัพเดทตลอดเวลา การปิดซิงค์ข้อมูลก็ช่วยลดการใช้งานข้อมูลที่ไม่จำเป็นได้เป็นอย่างดี วิธีปิดการซิงค์ชั่วคราวให้เข้าไปที่ การตั้งค่า > บัญชีและการซิงค์ > ซิงค์อัตโนมัติ (ปิด)

9. ลดการใช้ข้อมูลผ่านเบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ต

ถ้าหากว่าการท่องเว็บคือตัวการหลักที่ทำให้ปริมาณข้อมูลเครือข่ายของคุณถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะว่าบางเว็บไซต์ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับการใช้งานบนมือถือ แถมยังมีโฆษณาที่นอกจากจะกวนใจแล้วยังสิ้นเปลืองการใช้ข้อมูลเครือข่ายด้วย

วิธีการแก้ไขของ Google คือการสร้างฟังก์ชั่นบล็อค Pop Up ที่อยู่บนเว็บเพจเมื่อเปิดผ่าน Google Chome โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดกั้นโฆษณาส่วนใหญ่บนเว็บไซต์ที่มักจะอยู่ในรูปแบบ Pop Up นั่นเอง และอีกหนึ่งวิธีการคือบีบอัดข้อมูลเนื้อหาในเว็บเพจเพื่อให้มีขนาดลดลงและประหยัดข้อมูลในการดาวน์โหลด โดยเบราว์เซอร์ Opera เป็นเบราว์เซอร์ที่มีฟังก์ชั่นบีบอัดข้อมูลและสามารถแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าประหยัดปริมาณการโหลดข้อมูลไปเป็นจำนวนเท่าใด

10. ตรวจสอบปริมาณการใช้ข้อมูลเครือข่ายด้วยตัวเอง

มีแอพพลิเคชั่นแอนดรอยด์ที่สามารถโหลดมาเพื่อใช้งานสำหรับตรวจสอบการใช้ข้อมูลเครือข่ายภายในเครื่อง (Data Monitor, Onavo Count, Data Taffic Monitor) ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้ตระหนักว่าแอพใดที่เป็นสาเหตุหลักทำให้ข้อมูลเครือข่ายถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง

11. บีบอัดข้อมูลเครือข่ายที่ถูกโหลดมายังเครื่องโทรศัพท์

เป็นวิธีการสุดท้ายที่แนะนำ โดยแอพพลิเคชั่น Onavo สามารถใช้บีบอัดข้อมูลเครือข่ายที่ถูกโหลดเข้ามา วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้ข้อมูลเครือข่ายได้อย่างเห็นผล แต่ข้อเสียที่ต้องทำใจยอมรับคือการใช้งานทุกอย่างผ่านข้อมูลเครือข่ายจะช้าลงด้วย

โทรสอบถามผู้ให้บริการหรือศูนย์บริการของโทรศัพท์ที่ใช้งานอยู่

ถ้าทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่ช่วยให้การใช้งานข้อมูลเครือข่ายลดลงจนอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ควรโทรหรือเข้าไปสอบถามความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซัง นอกจากจะทำให้ใช้งานโทรศัพท์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องคอยกังวลกับค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่มองไม่เห็นอีกต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม

ทำความรู้จักกับ LTE 4G

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้โลกทุกวันนี้กลายเป็นโลกไร้พรมแดน ซึ่งทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายกว่าเดิม โดยสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารนั้นกลายเป็นเรื่องง่ายนั่นก็คือ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยุค 3G และ 4G LTE ที่เราทุกคนเคยได้ยินกันในปัจจุบัน แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจความหมายของเทคโนโลยีนี้ว่าตกลงแล้วคืออะไร? ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้ เราควรทราบถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก่อนที่จะมาเป็น 3G และ 4G LTE ในยุคปัจจุบัน

วิวัฒนาการก่อนจะเป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 4G LTE (ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง 3G กับ 4G LTE) ซึ่งคำว่า G ย่อมาจาก Generation แปลว่า ยุค หรือช่วงสมัย ไม่ได้หมายถึงชื่อของเทคโนโลยีที่หลายๆ คนมักเข้าใจผิด

ยุค 1G (1st Generation) เป็นยุคที่ใช้ระบบอนาล็อก (Analog) คือใช้สัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียง (Voice) โดยสามารถโทรออก-รับสายได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งผ่านข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่การรับ-ส่ง SMS โดยในยุคนั้นผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีรายได้สูง

ยุค 2G (2nd Generation) เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการส่งคลื่นวิทยุแบบอนาล็อก (Analog) มาเป็นการเข้ารหัสดิจิตอล (Digital) แทน โดยผู้ใช้สามารถใช้งานทางด้านข้อมูลก็คือสามารถส่งข้อความ SMS ได้นอกเหนือจากการโทรออก-รับสาย รวมทั้งยังทำให้เกิดการบริการต่างๆ มากมาย เช่น การเปิดให้ดาวน์โหลด Ringtone, Wallpaper ซึ่งในยุคนี้ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของโทรศัพท์มือถือ ถัดมาได้มีการนำเทคโนโลยีGPRS (General Packet Radio Service) มาใช้ เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้มีการรับ-ส่งข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเช่น นอกจากส่งข้อความ SMS แล้วยังสามารถส่ง MMS ได้อีกด้วย, เสียงเรียกเข้ามีการเพิ่มเสียงเป็นแบบ Polyphonic และ True tone รวมทั้งเริ่มมีโทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอสี นอกจากหน้าจอขาว-ดำ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาความเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution)ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่า GPRS ประมาณ 3 เท่า ทำให้สามารถเข้าเว็ปไซด์ เล่นอินเตอร์เน็ตได้ แต่ความเร็วยังมีจำกัด และไม่สามารถรองรับไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ได้ โดยเทคโนโลยี GPRS และ EDGE ถูกนำมาใช้ในระบบมาตรฐานคลื่นความถี่ GSM (Gobal System for Mobile Communication)

ยุค 3G (3rd Generation) เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 ซึ่งจะมีความโดดเด่นในเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อและการรับ-ส่งข้อมูลโดยเน้นการเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วยความเร็วสูง เพื่อรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์สมัยใหม่ ที่ช่วยให้สามารถใช้งานด้านมัลติมีเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสามารถส่งข้อมูลทั้งภาพและเสียงในระบบไร้สายด้วยความเร็วที่สูง ซึ่งก่อให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอคอล หรือดูหนัง ฟังเพลงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการบริการที่เรียกว่าแอพพลิเคชั่นอีกด้วย ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตเลยก็ว่าได้ ซึ่งยุค 3G เป็นยุคเทคโนโลยีไร้สายที่ถูกพัฒนามาจากยุค 2G ที่มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ให้มีขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูลที่เหนือกว่า สำหรับประเทศไทยได้นำเทคโนโลยี UMTS ( Universal Mobile Telecommunications System) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายมาตรฐานใหม่ที่ถูกพัฒนามาจาก ระบบมาตรฐานคลื่นความถี่ GSM ที่มีเทคโนโลยีหลักคือ W-CDMA ต่อมาได้ถูกพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยี HSPA+ ที่สามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 42 Mbps

ยุค 4G หรือ (4th Generation) ถือได้ว่าเป็นยุคปัจจุบันสำหรับทั่วโลก (แต่สำหรับประเทศไทยเรายังคงอยู่ในยุค 3G ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 4G) ซึ่งหลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า 4G LTE และคงมีคำถามว่าแล้ว LTE คืออะไร? เกี่ยวข้องกับ 4G อย่างไร? สำหรับ LTE นั้นย่อมาจาก Long Term Evolution เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาทดลองใช้ในยุค 4G โดยเกิดจากความร่วมมือของ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) ที่มีการพัฒนาให้ LTE มีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า โดยมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลและมัลติมีเดียสตรีมมิ่งที่มีความเร็วอย่างน้อย 100 Mbps และมีความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps นอกจากเทคโนโลยี LTE แล้วยังมีอีก 2 เทคโนโลยีที่ถูกนำมาทดลองใช้เหมือนกันคือ UMB (Ultra Mobile Broadbrand) ที่พัฒนามาจากมาตรฐาน CDMA2000 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในยุค 3G นั่นเองและ WiMax (Worldwide Interoperability for Microwave Access) เป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง โดยพัฒนามาจากมาตรฐาน IEEE 802.16 ซึ่งเป็นมาตราฐานเดียวกันกับ Wi-Fi แต่มาตรฐาน Wimax สามารถส่งสัญญาณได้ไกลถึง 40 ไมล์ ด้วยความเร็ว 70 Mbps และมีความเร็วสูงสุด 100 Mbps โดยปัจจุบันนี้มีเพียง 2 เทคโนยีที่ถูกนำมาใช้ในยุค 4G คือ เทคโนโลยี LTE และ Wimax ซึ่งเกือบทุกประเทศทั่วโลกใช้เทคโนโลยี 4G LTE แต่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยี 4G Wimax เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน บังคลาเทศ เป็นต้น

ซึ่งในยุค 4G นี้ถือว่าเป็นยุคที่ถูกพัฒนาก้าวมาอีกขั้นโดยมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลมากกว่ายุค 3G ที่ช่วยตอบสนองการใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ตไร้สายให้ดีขึ้น ทำให้สามารถส่งรับข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเดิม และสามารถใช้โปรแกรมมัลติมีเดียได้อย่างเต็มที่ เช่น การสนทนาผ่านโปรแกรม Video Conference ในระดับความคมชัดแบบ HD, โหลดหนัง ฟังเพลง โดยไม่สะดุด และยังสามารถอัพโหลด – ดาวน์โหลดข้อมูลที่มีขนาดไฟล์ใหญ่ๆ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นาน นอกจากนี้เทคโนโลยี 4G LTE ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถใช้งานบนมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเริ่มมีบางค่ายที่นำเทคโนโลยี 4G LTE มาทดลองใช้ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานประเทศไทยคงจะก้าวเข้าสู่ยุค 4G ต่อไป…